ความสำคัญของโครงการ

พัฒนาสายสีเทา เสริมโครงข่ายการเดินทางสู่ใจกลางเมือง สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทาง ถือเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ปัจจุบันมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางสายหลักเปิดให้บริการแล้วหลายสาย ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) หรือ  M-MAP

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เป็นหนึ่งในโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางสายรอง ตามแผน M-MAP และอยู่ระหว่างการดำเนินการ PPP (Public Private Partnership) รถไฟฟ้าสายสีเทาเป็นเส้นทางที่รองรับ “การเติบโต”ย่านวัชรพลถึงทองหล่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านชุมชนหนาแน่น ขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ และยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ โดยรถไฟฟ้าสายสีเทาจะเชื่อมโยงการเดินทางจากชานเมืองฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง นอกจากนี้ ยังเป็นโครงข่ายสายรองที่ช่วยป้อนผู้โดยสารให้กับโครงข่ายสายหลักสายสีส้มและสายสีเขียว รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายรองสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำตาล

สำนักการจราจรขนส่ง กรุงเทพมหานคร หนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาด้านขนส่งมวลชนเพื่อดูแลการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสม จัดทำแบบเบื้องต้น วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดเตรียมเอกสารโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-สะพานพระราม 9 โดยศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ ช่วงที่ 2 พระโขนง-พระราม 3 และช่วงที่ 3 แนวเส้นทางส่วนต่อขยายพระราม 3-ท่าพระ ระยะทางรวม 39.91 กิโลเมตร โดยผลการศึกษาเสนอให้พัฒนาโครงการระยะที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ เป็นเส้นทางนำร่อง

แต่เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาที่ศึกษาไว้เดิม และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ สำนักการจราจรและขนส่ง จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาและดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการในระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เพื่อนำเสนอขออนุมัติโครงการและเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมความพร้อมในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป

Scroll Up